5 วิธีพูดอย่างไรให้ดีและได้ใจคนฟัง

ฉันชอบการคุยกับผู้คนนะ มันสนุกและมีเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ

ทสนทนาหลายครั้งพาเราไปยังจุดที่เราไม่เคยสัมผัสถึง ทั้งไอเดีย เรื่องราว และประสบการณ์อันหลากหลาย หลายๆ ครั้งบทสนทนาก็เป็น ‘อาหารสมองชั้นเลิศ’ ที่ถูกคัดสรรมาแล้วจากผู้ปรุงอย่างพิถีพิถันเพราะพวกเขาใช้ชีวิตของตัวเองเป็นเครื่องพิสูจน์

ตั้งแต่เด็กๆ ฉันมักจะมีคำว่า ‘ทำไม’ เกิดขึ้นในหัวตลอดเวลา จนบางทีแม่ก็รำคาญไอ้เด็กพูดมากคนนี้ ตั้งแต่เด็กฉันช่วยงานในบ้านที่เป็นอาหารเล็กๆ แห่งหนึ่งย่านฝั่งธน ทุกวันร้านเราจะมีลูกค้าเข้ามามากมาย และเด็กอย่างฉันก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการเดินถามว่า ‘จะรับน้ำอะไรดีคะ?’ แล้วเดินเสิร์ฟน้ำไปตามโต๊ะต่างๆ นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ฉันไม่กลัวคน และสามารถเข้าหน้ากับใครก็ตามที่โผล่มาอยู่ตรงหน้าได้ทันที ฉันมักจะได้รับความเอ็นดูจากผู้ใหญ่หลายๆ คนที่เข้ามาชวนคุยเพราะเอ็นดูในความขยัน(ซึ่งจริงๆ แล้วแม่บังคับลงมาช่วยงาน ฮา) บางทียังได้ทิปส์พร้อมคำชมเชยติดไม้ติดมือกลับมาด้วยหลายต่อหลายครั้ง

สมัยเรียนฉันก็มักจะถามคำถามเพื่อน พี่ น้อง อย่างตรงไปตรงมาเสมอ บางครั้งยังแลกใจตัวเองว่า ถามตรงๆ แบบนี้ไม่กลัวเพื่อนโกรธหรอ? แต่ก็มักจะถามไปโดยไม่ทันคิดเสมอเหมือนเป็นระบบอัตโนมัติของร่างกายที่พอเจอเครื่องหมาย ‘?’ ระบบร่างกายก็จะยิงคำถามออกไปทันที และก็ไม่น่าเชื่อที่เพื่อนหลายๆ คนก็ตอบคำถามของฉันเสียด้วย ฉันมักจะคุยกับรุ่นพี่ และเพื่อนต่างคณะอยู่บ่อยๆ จนเพื่อนๆ หลายคนเรียกว่า ‘เป็นคนเช็คชื่อมหาลัย’ การที่ได้เห็นมุมมองที่แตกต่างจากเรา การที่สมองฝากจินตนาการได้ทำงานมากขึ้น เรื่องราวที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมักทำให้เลือดในร่างกายของฉันสูบฉีดอย่างบอกไม่ถูก

พอทำงานฉันได้พบกับผู้คนมากมาย ทั้งผู้คนที่เก่ง ไม่เก่ง หรือ กลางๆ แต่ไม่ว่าจะกลับใคร คนไหน มันน่าประหลาดใจที่หลังจากการจบบทสนทนา เรามักจะได้อะไรกลับมาเสมอ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ดี ไม่ดี ควรทำตาม หรือไม่ควรเอามาเป็นเยี่ยงอย่าง ทุกเรื่องมันได้มาจากการสนทนาทั้งนั้น บ่อยครั้งที่การเจอกับคนที่เย่อหยิ่งจองหองทำให้ฉันกลับมานั่งคิดทบทวนตัวเองได้มากมาย และบ่อยครั้งที่เจอคู่สนทนาที่ดี ก็มักมีเรื่องสนุกมาขับเคลื่อนความคิดต่อยอดกันไปในทางที่ดี ดังนั้นวันนี้ฉันมี 5   ข้อดีๆ ที่ได้จากการสนทนามาฝากค่ะ

5greatconversation

  1. Be a good listener – คุณจะไม่ได้มีวันได้รับอะไรดีๆ ถ้าหากคุณไม่เริ่มต้นเป็นผู้ฟังที่ดีเสียก่อน ลองคิดดูว่าเราจะอยากเล่าอะไรไหมถ้าคนตรงหน้าของเรามีท่าทางที่ไม่สนใจฟังสิ่งที่เราพูดเลย
  2. Be their friend – สิ่งต่อมาหลังจากเป็นผู้ฟังที่ดีแล้ว หลักในการสร้างบทสนทนาที่ดีคือการที่คุณต้องรู้จักเป็นเพื่อนกับคู่สนทนาไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เพราะนั่นจะทำให้คู่สนทนาของคุณมั่นใจที่จะพูดหรือบอกเล่าสิ่งต่างๆ ให้คุณฟัง
  3. Be interactive – ไม่มีใครอยากพูดคนเดียวเพราะการพูดอยู่คนเดียวเหมือนสนทนาธรรมกับทีวีอย่างไงอย่างงั้น ดังนั้นฝึกบริหารสมองด้วยการ ‘ตั้งคำถาม’ ดูบ้าง ‘ทำไมนะคะ’ ‘หรอคะ แล้วอย่างไรต่อ’ ล้วนเป็นคำถามที่ทำให้คู่สนทนาของคุณยังรู้ว่าคุณยังไม่หลุดไปยังดาวไหนๆ แล้วยังช่วยกระตุ้นให้คุณรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมออีกด้วย
  4. Be polite – การสนทนาจะเป็นไปได้อย่างราบรื่นหากคู่สนทนารู้ ‘กาละเทศะ’ เป็นอย่างดี เรื่องบางเรื่องหากไม่ได้จำเป็นต้องรู้แล้ว หรือพูดไปแล้วส่อไปในทางที่ไม่ดี ไม่ถูก ไม่ควร ก็ควรจะเก็บไว้ในใจไม่ควรจะถามต่อให้เคืองความรู้สึกกันไปเปล่าๆ ยิ่งพูดกับผู้ใหญ่แล้วต้องรู้จักระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น เผลอๆ จะทำให้เราดูเป็นคนที่น่าเชื่อถือในสายตาของพวกเขาอีกด้วย
  5. Be grateful – เป็นอย่างสุดท้ายแต่สำคัญสุดๆ ค่ะ เพราะคุณควรจะรู้สึกขอบคุณที่คู่สนทนาของคุณนำเรื่องราวต่างๆ มาเล่าให้คุณฟัง (ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่ดี มีประโยชน์นะคะ) เพราะคุณค่าการได้มาของเรื่องเหล่านี้เกิดจากการเอาตัวเข้าแลกของคนตรงหน้าของคุณ การกล่าวคำขอบคุณจึงเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกของเรานั่นเอง

ครบ 5 ข้อนี้แล้วสิ่งสุดท้ายที่อยากแถมให้ก็คือ Be sincere อยากได้ใจใครก็ต้องจริงใจกับเขาก่อน เรียกว่าเป็นหลักการ Give and Take แบบง่ายๆ เลยค่ะ เพราะถ้าคุณไม่เริ่มเป็นคนให้ใจใครก็อย่าหวังว่าใครที่ไหนจะมามอบใจให้คุณ หากใครมีเทคนิคดีๆ เกี่ยวกับการสนทนาสามารถนำมาเล่าสู่กันฟังหรือแชร์ความเห็นกันได้นะคะ

Muu Olanwanichkun

Instagram: mumuustory email me at nichnasa@dsignsomething.com

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.