บันทึกคุณแม่มือใหม่: เมื่อลูกชายตรวจคัดกรองการได้ยินไม่ผ่าน

รู้หรือเปล่าคะ ว่าเมื่อเด็กๆ คลอดออกมาแล้ว หนึ่งในสิ่งที่รพ.จะทำให้คือการตรวจคัดกรองการได้ยินว่าเด็กคนนั้นผ่านหรือไม่ค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมีการตรวจให้อยู่แล้ว โดยที่ผลก็จะออกมามีแค่ 2 อย่างคือ ผ่านและ refer(แปลว่าส่งตรวจเพิ่มเติม)

การที่ตรวจคัดกรองการได้ยินไม่ผ่าน ไม่ได้แปลว่าลูกของเราจะไม่ได้ยิน 100% เป็นเพียงการที่เครื่องมือไม่สามารถอ่านค่าที่สะท้อนกลับมาได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด การ refer จึงเป็นการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ค่าและผลที่แน่นอนค่ะ

เจ้าลูกชายตรวจครั้งแรกไม่ผ่านซึ่งทางรพ.แจ้งว่าอาจจะมีน้ำคร่ำหรือไขไปอุดอยู่ซึ่งจะสามารถหายได้เอง ให้มาตรวจซ้ำตอนที่มาตรวจครบ 10 วัน ครั้งแรกไม่ผ่าน แม่ก็ยังชิลๆ ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะเห็นว่าโอกาสคนที่ไม่ผ่านก็มีอยู่เยอะ ผ่านไป 10 วันเราพาอลันกลับไปตรวจสุขภาพและ follow up เรื่องตัวเหลือง(ซึ่งก็ไม่รอดนอนผิงไฟที่รพ.ไป 1 คืน) พร้อมกันกับตรวจการได้ยินอีกรอบ ปรากฏว่าก็ยังไม่ผ่าน เรากับแฟนเริ่มเครียดว่าลูกจะไม่ได้ยินจริงๆ หรอ ครั้งนั้นเราติดไปพบคุณหมอสูฯไม่ได้ขึ้นไปด้วย การตรวจคัดกรองเป็นการเอาเครื่องส่งเสียงที่มีหน้าตาคล้าย Walkman หรือซาวเบาท์มาใส่เข้าไปในหูเด็กแล้วส่งสัญญาณเสียงเข้าไป เครื่องก็จะอ่านค่าสัญญาณที่ตอบกลับมาแล้วแจ้งผลซึ่งจะได้รับผลแค่ผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น

เครื่องมือสำหรับการตรวจ oaes เจ้าหน้าที่บอกว่ามักจะมีปัญหาเรื่องของการเสียบเข้ารูหูของเด็กๆ เพราะขนาดที่ไม่พอดี ทำให้เมื่อเด็กบางคนที่รูหูเล็กมากใช้เจ้าเครื่องนี้และอยู่ไม่นิ่งแล้วก็ทำให้การวัดค่าออกมาคลาดเคลื่อนได้

การไปตรวจครั้งที่ 2 แล้วไม่ผ่านทำให้เราค่อนข้างเป็นกังวลพอสมควร (เรียกว่าเสียน้ำตากันไปหลายปี๊บ) โดยเจ้าหน้าที่ก็นัดให้มาตรวจใหม่อีกครั้งตอนครบ 1 เดือน กว่าเราจะทำใจให้เลิกคิดเรื่องนี้ได้ก็ใช้เวลาเกือบเดือนแล้ว พอถึงวันตรวจนี่ก็เริ่มตื่นเต้นปนเครียดอีกครั้ง ปรากฏว่าครั้งที่ 3 ‘ก็ยังไม่ผ่าน!’

ไปตรวจ ABR กันเถอะ!

เอาละสิ…นอกจากเราแล้วหันไปมองหน้าแฟน คนนั้นเครียดกว่าจากครั้งแรกๆ ที่เค้าคอยปลอบเรามาตลอดกลายเป็นว่าตอนนี้เขื่อนความอดกลั้นเริ่มจะพังแล้ว ทั้งเราและแฟนเริ่มถามหาข้อมูลเพราะอ่านข้อมูลจากในอินเตอร์เน็ทสำหรับเรื่องนี้มีน้อยเหลือเกิน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ที่รพ.ก็ให้ข้อมูลแค่ว่า การตรวจนี้เป็นการตรวจคัดกรอง ได้ผลมาเป็น refer ก็ไม่ได้แปลว่าเด็กจะไม่ได้ยิน ก็ให้รอไปตรวจเครื่องใหญ่อีกเครื่องที่เรียกว่า ABR ซึ่งต้องรอผลตรวจคัดกรองตอน 2 เดือนก่อน ถ้าไม่ผ่านถึงจะส่งตรวจอีกที

มาถึงตรงนี้เราคิดว่ามันไม่โอเคละ เรารอมา 1 เดือนเพื่อมาฟังว่าลูกไม่ผ่านการตรวจการได้ยิน และไม่แน่ใจว่าลูกเราได้ยินหรือไม่ และเราจะต้องรอไปอีก 1 เดือนเพื่อมาตรวจอีกครั้งโดยที่เราก็ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นไม่ผ่านอีกหรือไม่ วันนั้นเรากับแฟนเลยตัดสินใจไปตรวจเพิ่มเติมที่กรุงเทพคริสเตียน พอตัดสินใจกับแฟนปุบโทรถามเรียบร้อยก็ออกเดินทางจากรพ.เดิมมุ่งหน้าไปยังแผนก หูตาคอจมูกที่กรุงเทพคริสเตียนเลย ที่นั่นเราได้เจอเจ้าหน้าที่ตรวจการได้ยิน(ขออนุญาตบอกชื่อเอาไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ) ก็คือ คุณคงพล เมื่อคุยกันแล้วเราต้องตรวจ OAEs ซ้ำอีกครั้งที่นี่และก็เป็นเหมือนเดิมคือไม่ผ่าน!!แต่คุณคงพลก็ให้รายละเอียดอย่างชัดเจนว่าการที่ไม่ผ่านนั้นอาจมีมาได้หลายสาเหตุเช่น มีอะไรไปอุดกลั้นในช่องหูชั้นกลางทำให้เสียงเดินทางไปไม่ถึงเครื่องเลยอ่านค่าว่าไม่ผ่าน

หรืออีกอย่างคือช่องหูเด็กอ่อนยังค่อนข้างเล็ก เมื่อใส่เครื่องมือเข้าไปเสียงอาจเดินทางไปสะท้อนกลับไม่ถูกที่ทำให้เครื่องที่อ่านค่าจากเสียงที่สะท้อนกลับมาได้รับค่าที่ไม่ถูกต้อง ก็เลยถามต่อว่าแล้วถ้าเด็กที่ได้ยินเสียงปิดประตู หรือเสียงปรบมือแล้วสะดุ้งนี่ถือว่าได้ยินไหม คุณคงพลบอกว่าถ้าอย่างนั้นสบายใจได้เลยเพราะว่าการสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดังคือปฏิกริยาตอบสนองของเด็กที่มีต่อเสียงอยู่แล้ว หลังจากคุยกันให้ใจชื้นพอประมาณ ก็นัดตรวจ ABR ต่อเพื่อความชัวร์และไม่ต้องให้น้องหยอดยานอนหลับด้วยแค่กินนมให้หลับก็โอเคแล้ว แต่เนื่องจากทางรพ.กรุงเทพคริสเตียนไม่มีเครื่องตรวจ ABR เลยนัดไปตรวจต่อที่รพ.เซนหลุยส์อีก 2 วันถัดไป

ถึงวันดีเดย์ เรากับแฟนรีบออกไปรพ.ตั้งแต่เที่ยงเพราะนัดเอาไว้บ่ายโมง ที่เซนหลุยส์นี่บริการดีมาก(ก.ไก่ล้านตัว)ตั้งแต่หน้าประตูไปจนถึงแผนกหู ตา คอ จมูกเลย มาถึงแผนกพี่ๆ พยาบาลน่ารักกับอลันนมากๆ ช่วยโอ๋ช่วยกล่อม หาผ้าอุ่นๆ มาให้ห่มอีก เอาล่ะ…มาถึงแล้วเริ่มตรวจจากการส่องดูรูหูว่ามีอะไรอุดกั้นทางเดินเสียงตรงหูชั้นกลางหรือไม่ก่อนค่ะ ซึ่งคุณหมอก็จะใช้เครื่องส่องดูหูแหย่เข้าไปเล็กน้อย จะมีภาพช่องหูขึ้นมาในจอซึ่งเราสามารถดูจากตรงนั้นได้เลยค่ะ ซึ่งของน้องนั้นช่องหูสะอาดเอี่ยมไม่มีอะไรกั้นทางเดินเสียงเลยค่ะ เป็นอันว่าตัดไป 1 อย่าง

ถัดมาเป็นการตรวจด้วยเครื่อง ABR ซึ่งเจ้าเครื่องนี้ไม่ได้เหมือนเครื่อง OAEs ที่จะส่งเสียงเข้าไปแล้วจับเสียงที่สะท้อนกลับมาจากหูชั้นกลาง แต่เครื่องนี้จะตรวจไปซึ่งประสาทหูหรือชั้นที่รับรู้การได้ยินค่ะ ซึ่งถ้าชั้นนี้ได้ยินแปลว่ายังไงก็ได้ยินแน่นอนค่ะ ประเด็นสำคัญของการตรวจเด็กๆ วัยนี้คือต้องทำให้เด็กอยู่นิ่งให้ได้ เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำค่ะ ซึ่งปกติถ้าเด็กที่โตประมาณ 2-3 เดือนแล้วบางทีจะหลับยากอาจจะต้องให้ยานอนหลับเด็ก ซึ่งก็อาจจะสร้างความกังวลให้คุณพ่อคุณแม่ได้พอสมควรทีเดียว ในส่วนของเรา ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าตรวจเลยก็ดีเพราะเด็กวัยนี้แค่กินนมก็หลับแล้วก็ช่วยลดโอกาสจะต้องใช้ยานอนหลับกับเด็กไปได้ด้วย ซึ่งการตรวจใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาทีก็เสร็จแล้วค่ะ

ตอนตรวจทางเจ้าหน้าที่ก็จะเอาสายที่เหมือนหูฟังมาต่อที่หูน้องเหมือนการตรวจ OAEs นะคะ แต่จะมีเครื่องมือเพิ่มเติมที่เหมือนเวลาเราตรวจหัวใจแปะบนหน้าฝากและหลังใบหูเพิ่มด้วย เมื่อเริ่มตรวจก็จะมีกราฟการได้ยินขึ้นยังหน้าจอซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็จะตรวจความดังของเสียงที่แตกต่างกันออกไป(ที่เข้าใจคือระดับเดซิเบลที่แตกต่างกันนะคะ แบบเบาไปจนดัง แต่แค่ไหนอันนี้ไม่แน่ใจรายละเอียดนะคะ) ซึ่งพอครบ 30 นาทีตรวจเสร็จก็ทราบผลเลยค่ะ

เนื่องจากเจ้าลูกชายยุกยิกมากหน่อยแต่ผลจากกราฟคือผ่านทั้ง 2 ข้างค่ะ ซึ่งจากผลที่ได้มาคือน้องหูดีรับเสียงค่อนข้างดีค่ะ แต่ช่องหูอาจจะค่อนข้างเล็กเวลาที่เครื่อง OAEs ส่งเสียงเข้าไปอาจจะชนกับผนังหู เลยไม่มีเสียงสะท้อนกลับไปที่เครื่อง เครื่องก็เลยอ่านค่าว่าไม่ผ่านนั่นเองค่ะ

ผลจากการตรวจเครื่อง ABR โดยการตรวจการได้ยินแบบนี้จะทำทีละข้าง เด็กต้องอยู่นิ่งเช่นเดียวกับเครื่อง oaes แต่จะให้ผลที่แม่นยำกว่ามาก ในการใช้เครื่องนี้หากเด็กเริ่มโตอาจต้องมีการให้ยานอนหลับเพื่อให้เด็กอยู่นิ่งค่ะ

จบงานนี้ไปแบบสบายใจทั้งพ่อและแม่มากๆ เสียค่าตรวจและบริการทางการแพทย์ไป 3,300 บาทซึ่งแลกกับความสบายใจที่ไม่ต้องรอไปอีก 1 เดือนถือว่าคุ้มมากเลยค่ะ(เครียดมากน้ำนมหดหมด)

ต้องขอขอบคุณ คุณคงพล แพทย์และพยาบาลที่รพ. กรุงเทพคริสเตียนและเซนหลุยส์เป็นอย่างมากค่ะ โดยเฉพาะคุณคงพลที่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนไม่ทำให้เป็นกังวลและช่วยเหลือเป็นอย่างดีค่ะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ตรวจการได้ยินลูกแล้วยังไม่ผ่านอยากให้ลองถามรายละเอียดกับทางรพ.ให้ดีนะคะ และก็อาจจะต้องใจเย็นๆ ลองสังเกตลูกตัวเองดูค่ะ ถ้ามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงก็สบายใจได้ระดับหนึ่งแล้วว่าลูกน้อยของคุณได้ยินแน่นอน แต่อาจจะต้องได้รับการตรวจละเอียดเพื่อหาเหตุผลอีกครั้งค่ะ

Muu Olanwanichkun

Instagram: mumuustory email me at nichnasa@dsignsomething.com

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.