
จะบอกว่าช่วงเดือนที่ 1-3 ที่เคยบอกไปว่ายุ่งมากจนไม่ได้เขียนบล็อคเลย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรื่องนี้ด้วยค่ะ คือมีปัญหากับเต้านมจนต้องเข้าออกที่ ‘คลีนิกนมแม่’ เป็นว่าเล่น เรียกว่าอยู่จนเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ไปแล้วค่ะ

ใครว่ามีแต่คนนมน้อยที่มีปัญหา คนนมเยอะก็มีปัญหาชีวิตได้เหมือนกันค่ะ เราเป็นสายแม่วัวโคนม คือ น้ำนมมาตั้งแต่เพิ่งท้องได้ 4 เดือน ก็เริ่มมีซึมๆ ออกมาแล้ว พอหลังคลอดปุ๊บก็ปั๊มได้เกือบ 2 ออนซ์ในคืนแรกเลยค่ะ แต่ทีนี้พอน้ำนมมาเยอะ เวลาระบายออกไม่ทันสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ‘ท่อน้ำนมอุดตัน’ หรือที่แม่ๆ เรียกกันว่า White dot นั่นเองค่ะ
แล้วWhite dot คืออะไร?
การเป็นท่อน้ำนมอุดตันก็ตามชื่อเลยค่ะ ที่หน้าอกของแม่ๆ จะมีท่อน้ำนมเล็กๆ มารวมกันอยู่ที่หัวนม ลองจินตนาการเป็นท่อส่งน้ำก็ได้ค่ะ เวลาที่มีอะไรไปอุดน้ำก็จะออกไม่ได้ใช่ไหมคะ แต่ถ้ามันออกไม่ได้เฉยๆ แล้วไม่มีน้ำมาเติมมันก็ไม่เป็นไร แต่พอโดนอุดเอาไว้จนออกไม่ได้แล้วมีน้ำนมที่ร่างกายผลิตใหม่มาเติมเรื่อยๆเต้านมเราก็จะคล้ายๆ ลูกโป่งที่ขยายออกจนออกไม่ได้ก็จะบวมเป่งจนแข็ง ซึ่งถ้าปล่อยเอาไว้นานเข้าก็จะนำไปสู่อาการเต้านมอักเสบ และเป็นหนองในเต้านมในที่สุดค่ะ น่ากลัวใช่มั้ยล่ะคะ
ในช่วงเดือนแรกๆ เราท่อน้ำนมอุดตันบ่อยมากค่ะ เรียกว่าแทบจะตันรายวันเลย ซึ่งพอเป็นแม่มือใหม่ก็เอาออกด้วยตัวเองไม่เป็นก็ต้องแจ้นไปพึ่งใบบุญของคลีนิกนมแม่ค่ะ ซึ่งก็ช่วยให้รอดผ่านไปได้ทุกครั้ง แต่หลายๆ คนคงสงสัยว่าคลีนิกนมแม่นี่ทำหน้าที่อะไรบ้าง วันๆ นั่งบีบไวท์ดอทหรอ? จริงๆ ไม่ใช่นะคะ คลีนิกนมแม่มีหน้าที่หลายอย่างเลยค่ะ เดี๋ยววันนี้มู่จะมาเล่าให้ฟัง
คลินิกนมแม่ทำอะไร?
อย่างที่ชื่อบอกค่ะคลีนิกนมแม่ หลักๆ ก็จะให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำนมมาน้อย การดูแลรักษาเต้านม วิธีเอาลูกเข้าเต้า รวมไปถึงปัญหาเต้านม(ของแม่ๆ) ที่ต้องวงเล็บไว้เพราะจะมีอีกแผนกเป็นศูนย์เต้านมซึ่งเค้าจะดูแลเรื่องเต้านมเหมือนกัน แต่อาจจะแตกต่างไปเช่นเราคลำเจอก้อนเนื้อก็ควรไปพบแพทย์เต้านม แต่ถ้าเป็นเรื่องนมของคุณแม่ที่คัดจนเป็นไตแข็งควรจะไปที่คลีนิกนมแม่มากกว่าค่
พอท่อน้ำนมตัน ที่ๆ ให้พึ่งได้จริงๆ ก็เป็นคลีนิกนมแม่ค่ะ มู่ไปหาที่พญาไท3 เพราะน้องคลอดที่นี่ด้วยแล้วก็ใกล้บ้านมาก ไม่ต้องทิ้งเจ้าตัวเล็กออกไปทีนานๆ ไปถึงก็จะมีพี่พยาบาลที่เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา เวลาคุยก็แมนๆ เปิดอกคุยกันไปเลย(อันนี้พูดจริง เพราะต้องใส่เสื้อที่เปิดหน้าอกให้คุณพยาบาลดูได้) ซึ่งแต่ละคนก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างของเรามักจะเป็นไวท์ดอททำให้น้ำนมไหลออกมาไม่ได้ต้องไปบีบเอาไวท์ดอทออก วิธีการที่พี่ๆ พยาบาลทำจริงๆ แล้วก็ไม่ต่างจากที่เราทำเองค่ะ สิ่งที่ต่างเห็นจะเป็นประสบการณ์ในการแก้ปัญหามากกว่า สมมติว่าถ้ามู่เจอไวท์ดอท มู่อาจจะใช้เวลาเอาออกอยู่ 2-3 ชั่วโมงในขณะที่พี่เค้าสามารถเอาออกได้ภายใน 30 นาที

Tips
ถ้าเจอไวท์ดอทต้องทำอย่างไร?
ปกติเราจะรู้ตัวว่าเป็นไวท์ดอทก็ต่อเมื่อท่อน้ำนมอุดตันไปแล้ว ดังนั้นลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้ดูนะคะ
- ค้นหาเจ้าไวท์ดอทตัวการ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในแนวเดียวกันกับตรงที่แข็งเป็นไตๆ
- ปั๊มน้ำนมออกมาให้หมดก่อนจะได้ไม่ต้องปั๊มไปบีบไป
- เอาแก้วเป็กใส่น้ำอุ่นค่อนไปทางร้อน(แบบที่ยังทนไหว)ครอบไปที่หัวนมซัก 5 นาทีเพื่อให้หัวนมนิ่มแล้วลองปั่นจี๊ดเพื่อให้น้ำนมดันเจ้าไวท์ดอทที่นิ่มแล้วให้ค่อยๆ โผล่ออกมา
- จากนั้นใช้นิ้วโป้งและะนิ้วชี้ ปั้นตรงหัวนม(แรงกว่าปกตินิดหน่อย) เพื่อปั้นให้ไวท์ดอทสามารถออกมาได้ง่ายขึ้น
- ลองบีบเหมือนเวลาเรากำลังบีบสิวแต่อย่าให้แรงเกินไป
ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็สามารถปั่นให้เจ้าไวท์ดอทหลดออกมาได้ค่ะ แต่ในบางคน บางจังหวะและบางมุมก็อาจจะทำด้วยตัวเองไม่ได้ก็คงต้องหาตัวช่วยค่ะ ลองปรึกษาที่คลีนิกนมแม่ดู หากเป็นเวลาที่ทางคลีนิกปิดแล้ว ถ้าปวดระบมก็สามารถกินยาพาราฯแก้ปวดได้ค่ะ แล้วรีบเอาออกให้ได้ภายใน 24 ชม. นะคะ ไม่อย่างนั้นจะมีโอกาสเป็นหนองได้ค่ะ
คลีนิกนมแม่เปิดวันไหนบ้าง?
อันนี้แล้วแต่รพ. นะคะ อย่างมู่จะมี 2 ที่ที่ไปหาบ่อยๆ คือ รพ. พญาไท3 ที่น้องคลอดและใกล้บ้าน แต่ที่นี้เค้าปิดวันอาทิตย์ ก็จะมีรพ.เซนหลุยส์สำรองเอาไว้ค่ะ เพราะไกลกว่า แต่เป็น 2 ที่ ที่ให้คำแนะนำได้ดีมากๆ
นอกจากไวท์ดอทคลีนิกนมแม่ทำอะไรได้บ้าง?
อย่างที่บอกไปว่าคลีนิกนมแม่ไม่ได้มีไว้แค่ช่วยบีบไวท์ดอทนะคะ เค้าให้คำแนะนำเรื่องนมแม่แก่คุณแม่มือใหม่ หรือคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำนมอื่นๆ ด้วยค่ะ เช่นน้ำนมน้อย ลูกไม่เข้าเต้า อาหารการกินของคุณแม่ให้นม คุณแม่ที่น้ำนมเริ่มหดแล้วอยากวางแผนเพิ่มน้ำนมก็สามารถมาปรึกษาที่คลีนิกได้เช่นกันค่ะ

คงจะพอรู้จักคลีนิกนมแม่กันมากขึ้นแล้วนะคะ แต่จากที่ได้ไปใช้เวลาขลุกอยู่ที่นั่นเป็นวันๆ มาเป็นระยะเวลาหลายเดือน อีกสิ่งนึงที่มู่คิดว่าดีมากๆ จากการได้ไปคลีนิกนมแม่คือการได้ไปเจอแม่ๆ ด้วยกันนี่แหละค่ะ ได้ไปเป็นคนที่ได้รับกำลังใจ และเป็นผู้ให้กำลังใจคนที่มีปัญหาเดียวกันหรือตรงกันข้ามกัน เรียกได้ว่าทำให้มีกำลังใจสู้ต่อไปได้หลายเฮือกทีเดียวค่ะ ตอนที่เป็นไวท์ดอทบ่อยๆ มู่เคยอยากจะเลิกให้นมเร็วๆ แล้วเพราะมันเป็นบ่อยจนเราเองก็ไม่ไหว แต่พอไปที่คลีนิก เจอแม่ๆ ที่เป็นหนองบ้าง ลูกกัดหัวนมเป็นแผลบ้าง บางคนน้ำนมน้อยแต่ก็พยายามมาทุกวิถีทางเพียงเพื่อให้ลูกได้กินนมแม่บ้าง ก็รู้สึกว่าแล้วเราล่ะ? เจอแค่นี้ก็หงอซะแล้วหรอ? มันทำให้เรามีแรงฮึดที่จะสู้ต่อจริงๆ ค่ะพอผ่าน 3 เดือนไป เชื่อว่าแม่ๆ ทุกคนก็จะปรับตัวได้เพราะเราเริ่มรู้วิธีจัดการกับมันแล้วทีนี้ชีวิตก็จะเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้วค่ะ 🙂